ลูกอ่านไม่คล่อง จับใจความไม่ได้เพราะอะไร ?
ลูกเราก็พูดเก่ง ถามอะไรก็ตอบได้ ให้อ่านหนังสือให้ฟังก็พอทำได้นะ แล้วทำไมครูบอกว่า ลูกอ่านไม่คล่อง ไม่เข้าใจ จับใจความสำคัญไม่ได้ ? คำถามนี้ อาจจะทำให้ผู้ปกครองหลายท่านสงสัยและกังวลใจไม่น้อย ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร วันนี้เราจะมีข้อมูลที่จะพาท่านมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน
การอ่านและทำความเข้าใจนั้น สมองของเราต้องทำงานอย่างไรบ้าง?
สมองที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการอ่านนั้น มีส่วนสำคัญอยู่ 4 ส่วน คือ
1. Occipital Lobe สมองส่วนด้านหลังบริเวณท้ายทอย ทำหน้าที่ควบคุมการมองเห็นและช่วยให้เข้าใจสิ่งที่เห็น เด็กอาจจะไม่ได้มีความผิดปกติด้านการมองเห็น แต่อาจจะเป็นการวิเคราะห์ภาพตัวอักษรหรือคำที่มองเห็น
2. Wernicke’s Area เป็นส่วนที่เป็นคลังข้อมูลคำศัพท์และเสียงขนาดใหญ่ สำหรับเด็กๆที่มีปัญหาเรื่องการอ่าน สมองส่วนนี้จะทำงานได้น้อยหรือไม่ทำงาน ทำให้คำศัพท์ทุกคำที่เรียนรู้นั้นกลายเป็นคำใหม่ตลอดเวลา
3. Broca Area เป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพูดและออกเสียง และการถอดรหัสภาษาไปสู่เสียง ซึ่งทักษะการพูด การฟัง และการอ่านต้องสัมพันธ์กัน
4. Auditory Processing สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลการฟัง หากสมองส่วนนี้ทำงานได้ไม่เต็มที่หรือมีความผิดปกติ ก็ส่งให้มีความยากลำบากในการแยกแยะคำศัพท์ เช่น รัก ลัก เป็นต้น
น่าอัศจรรย์มากที่กลไกสมองเหล่านี้ทำงานเชื่อมโยงกันโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย ดังนั้น การเริ่มฝึกให้ลูกอ่านคล่องจึงต้องอาศัยความเข้าใจและการฝึกที่สม่ำเสมอ ข่าวดีก็คือ สมองคนเราเป็นเหมือนพลาสติกที่ยืดหยุ่นได้ ซึ่งหากฝึกไปทีละขั้นและสม่ำเสมอก็จะสามารถทำให้สมองทำงานเชื่องโยงกันได้ดีขึ้น
การอ่านจะเกิดขึ้นเป็นขั้นตอน โดยเมื่อเด็กถอดรหัสการอ่าน (Phonemic Awareness) ได้แล้ว เด็กจะผสมเสียงและอ่านได้ถูกต้อง (Phonics) และเมื่อการอ่านเป็นอัตโนมัติ เด็กจะอ่านได้คล่อง (fluency) ต่อมาเมื่อเด็กไม่ต้องใช้ความพยายามในการอ่านแล้ว เด็กจึงจะสามารถเข้าใจเนื้อความที่อ่านได้ (comprehension) ทั้งนี้เด็กสามารถเข้าใจได้ตามระดับคำศัพท์ บริบท และเนื้อความของข้อความนั้น และนำสู่การคิดวิเคราะห์ระดับสูง (Critical Thinking) โดยจะไล่เรียงทักษะ ดังนี้
- Phonemic Awareness คือ ความสามารถที่จะรู้ว่าเสียงในภาษาพูดประกอบด้วยเสียงย่อยๆ (phonemes) มารวมกัน เช่น กา ประกอบด้วย เสียง ก และ อา (2 phonemes) ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดมีระบบในการจับคู่อักษรกับเสียงของมันและถอดรหัสกลุ่มตัวอักษรออกเสียงเป็นพยางค์ได้
- Phonics มี 2 ส่วน คือ การผสมเสียงและการถอดรหัสออกมาให้เป็นคำ เรียกว่า Blending and Decoding โดยสามารถมองอักษรที่เรียงเป็นกลุ่ม (letter sequences)
- Fluency เมื่อผสมเสียงและถอดรหัสได้แล้ว เด็กจะอ่านได้คล่องขึ้น
- Vocabulary การเรียนรู้คำศัพท์และความหมาย เมื่ออ่านเป็นคำได้อย่างอัตโนมัติ จะเกิดมี word recognition
- Comprehension เมื่อเด็กไม่ต้องใช้ความพยายามในการอ่านแล้ว เด็กจึงจะสามารถเข้าใจเนื้อหาที่อ่านได้ ทั้งนี้เด็กสามารถเข้าใจได้ตามระดับคำศัพท์ บริบท และเนื้อความของข้อความนั้น
- Critical Thinking การคิดวิเคราะห์จะเกิดขึ้นหลังจากที่สามารถเข้าใจเนื้อหาที่อ่าน และนำมาวิเคราะห์ให้ตกผลึกทางความคิด และนำไปเชื่อมโยงกับความรู้อื่น ๆ ได้
เห็นไหมคะ สมองมีระบบที่ทำให้เราอ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากเราพบว่าลูกหรือนักเรียนของเรามีความสามารถด้านการอ่านน้อย ก็สามารถที่จะเริ่มดูได้ว่า มีปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนไหน และเริ่มฝึกได้ โดยเริ่มจากพื้นฐานของแต่ละบุคคล เพื่อให้สามารถฝึกน้องให้อ่านได้คล่องมากยิ่งขึ้น
สุดท้ายนี้ การฝึกให้อ่านคล่องและจับใจความได้ดีนั้น อาศัยการทำงานร่วมกันหลายส่วนในสมอง แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ไปกว่านั้น คือกำลังใจและคำชื่นชมที่เหมาะสม ที่จะช่วยให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจและอยากเรียนรู้มากขึ้น หากลูกหรือนักเรียนยังทำไม่ได้ อย่าพึ่งด่วนตัดสินว่าน้องผิดปกติ ทำความเข้าใจและลดความคาดหวังที่สูงเกินไป เพื่อไม่ให้เด็กเกลียดการอ่านหนังสือและรู้สึกไม่ดีกับตนเอง ของแบบนี้ต้องใช้เวลาและความเข้าใจค่ะ
ในบทความครั้งหน้า เราจะมาแนะนำวิธีการฝึกในแต่ละขั้นตอนกันนะคะ ขอบคุณที่อ่านจบ ช่วยแชร์เป็นความรู้กันด้วยนะคะ
แหล่งข้อมูลจาก https://www.scilearn.com/blog/inside-brain-struggling-reader-infographic